สภาพและความเป็นมาในทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุรินทร์ไม่มีปรากฏเป็นหลักฐานเอกสารอันแน่นอน
เพียงแต่ได้มีการจดบันทึกไว้เพียงสังเขป
ซึ่งส่วนมากได้มาจากคำบอกเล่าของผู้มีอายุและเล่าต่อๆ กันมา
จึงเอาความแน่นอนไม่ได้ แต่จากการสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีได้สันนิษฐานว่า
พื้นที่ซึ่งเป็นภาคอีสานในปัจจุบันเคยเป็นที่อยู่ของพวกละว้าและลาว
มีแว่นแคว้นอันเป็นเขตปกครองเรียกว่า “อาณาจักรฟูนัน๑”
เมื่อนับย้อนถอยหลังเป็นระยะเวลาประมาณ
๒,๐๐๐ ปี สมัยที่ละว้ามีอำนาจปกครองอาณาจักรฟูนันนั้น
คงจะได้สร้างเมืองสุรินทร์ขึ้นและต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ.
๑๑๐๐ พวกละว้าเสื่อมอำนาจลง
ขอมเข้ามามีอำนาจแทนและตั้งอาณาจักรเจินละ หรืออิศานปุระ
ส่วนพวกละว้าก็ถอยร่นไปทางทิศเหนือ ปล่อยให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่าลงเป็นจำนวนมาก
จังหวัดสุรินทร์ก็คงจะทิ้งไว้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าและเป็นป่าดงอยู่
เมื่อขอมแผ่อิทธิพลและมีอำนาจครอบครองดินแดนเดิมของละว้าแล้ว
ขอมได้แบ่งการปกครองออกเป็น ๓ ภาค โดยตั้งเมืองศูนย์กลางการปกครองบังคับบัญชาขึ้น
๓ เมือง คือ เมืองละโว้ (ลพบุรี) เมืองพิมาย
(อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา) และเมืองสกลนคร
แต่ละเมืองมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชเท่าเทียมกันและปกครองบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนครวัด
อันเป็นราชธานีของขอม ซึ่งอยู่ในดินแดนเขมร
สมัยที่ขอมมีอำนาจนั้น
เมืองสุรินทร์อาจเป็นดินแดนแห่งหนึ่งที่อยู่ในเส้นทางการไปมาของขอมระหว่างเขาพระวิหาร
เขาพนมรุ้ง กับนครวัด นครธม ก็ได้ จึงปรากฏว่าได้มีการสร้างปราสาทหินขนาดเล็ก
คำนวณอายุประมาณ ๑,๑๐๐ ปีเศษ เรียงรายอยู่ท้องที่อำเภอต่างๆ
ตามชายแดนในท้องที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์
โดยเฉพาะในท้องที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ มีปราสาทอยู่ริมเขาพนมดองแหรก
หรือดงรัก เรียกว่าช่องตาเมือน มีปราสาทตาเมือนโต๊จ (ปราสาทตาเมือนเล็ก)
ปราสาทตาเมือนธม (ปราสาทตาเมือนใหญ่) มีวิหาร ระเบียงคด สระน้ำเรียงรายอยู่รอบๆ บริเวณปราสาท
นอกจากปราสาทเหล่านี้ก็มีปราสาทอื่นๆ อีกประมาณ ๒๕ แห่ง อยู่ตามท้องที่อำเภอต่างๆ
ในเขตจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งสันนิษฐานว่าขอมสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักพล
และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาระหว่างเดินทางจากนครวัด นครธม ข้ามเทือกเขาพนมดองแหรก
หรือดงรัก มาสู่เมืองศูนย์กลางการปกครองทั้ง ๓ เมืองดังกล่าวมาแล้ว
และขอมคงยึดถือเอาเมืองสุรินทร์เป็นเมืองหน้าด่านใหญ่ เพราะขอมมีราชธานีอยู่ทางด้านใต้ของเทือกเขาใหญ่
คือ เขาพนมดองแหรก หรือดงรัก
เมืองสุรินทร์คงเป็นที่เหมาะสมที่จะเป็นเมืองหน้าด่านใหญ่
เมื่อข้ามเทือกเขามาสู่ที่ราบทางทิศเหนือเพื่อไปยังเมืองศูนย์กลาง คือเมืองละโว้
เมืองพิมาย และเมืองสกลนคร เพราะเมืองสุรินทร์นั้นมีกำแพงเดินและคูเมืองล้อมรอบ ๒
ชั้น เหมาะสมที่จะสร้างค่ายคูประตูหอรบเพื่อป้องกันการรุกรานของข้าศึกเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ยังมีเมืองหน้าด่านรองๆ ลงไปอีก เช่น บ้านเมืองลิ่ง (อยู่ในเขตอำเภอจอมพระปัจจุบัน) บ้านประปืด
อยู่ในเขตตำบลเขวาสินรินทร์ บ้านแสลงพัน เขตตำบลแกใหญ่ บ้านสลักได
อำเภอเมืองสุรินทร์ ในปัจจุบันทั้ง ๔
แห่งนี้ปรากฏร่องรอยเช่นซากกำแพงเมืองเก่าให้เห็นอยู่
ส่วนที่ยังมีสภาพสมบูรณ์กว่าแห่งอื่น คือ บ้านประปืด ตำบลเขวาสินรินทร์
ซึ่งมีกำแพงดินและคูเมือง ๒ ชั้น ให้เห็นอยู่จนปัจจุบัน
จากเมืองสุรินทร์ไปยังเมืองหน้าด่านเล็กๆ
เหล่านี้แต่ก่อนเคยมีถนนดินพูนสูงประมาณ ๑ เมตร กว้างประมาณ ๑๒ เมตร
ทอดออกจากกำแพงเมืองสุรินทร์ไปยังเมืองหน้าด่านเล็กดังกล่าวแล้วทุกแห่ง
แต่ปัจจุบันสภาพถนนเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว
๑ อาณาจักรฟูนัน จดหมายเหตุจีนเรียกประเทศเขมรโบราณว่า ฟูนัน
ภาคกลางและภาคอีสานของไทย ก็เป็นอาณาจักรฟูนัน ชนชาติในประเทศเขมรก็เรียกว่าชาวฟูนัน
ซึ่งเป็นพวกตระกูลมอญ-เขมร ได้แก่ ละว้า
ที่สืบเชื้อสายมาเป็นเขมรโบราณ พ.ศ. ๑๐๙๓
แคว้นเจนละบกเมืองขึ้นก่อกบฏ เจ้าจิตรเสน ชิงเอากรุงโตมู (ศมภู)
ได้เป็นกษัตริย์มีพระนามว่า พระเจ้ามเหนทวรมัน
เรียกชื่อประเทศใหม่ว่า เจนละ พ.ศ. ๑๒๐๙
- ๑๓๔๕ อาณาจักรเจนละเกิดแตกกันเป็นสองประเทศ
ทางแผ่นดินสูงตอนเหนือ ได้แก่ ภาคอีสาน และประเทศลาว เรียกว่า เจนละบก
ทางแผ่นดินต่ำตอนใต้ ได้แก่ ประเทศเขมร จรดชายทะเล เรียกว่า เจนละน้ำ
คล้ายกับคำที่ชาวสุรินทร์พูดว่า แขมร์กรอม แขมร์เลอร์ (เขมรต่ำ-เขมรสูง) คำว่า กรอม แปลว่า ต่ำ ใต้ ล่าง
และเรียกชาวเขมรที่อยู่ในประเทศเขมรว่า แขมร์กรอม มาจนถึงปัจจุบันนี้
หลักการกลายของเสียงกรอมก็คงเป็นคำเดียวกับขอม ก็คือ เขมร สรุปว่า
ภาคอีสานเคยเรียกว่าอาณาจักรเจนละบก
เป็นอาณาจักรเขมรโบราณบางหัวเมืองคงรวมกับอาณาจักรเขมรตลอดสมัยกรุงสุโขทัย เช่น ในวงมณฑลอุดร
นครราชสีมา จันทบุรี จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ไทยได้รบเขมรตีได้นครหลวง (นครธม) เขมรเป็นเมืองขึ้นของไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๙๕
ได้ขยายอาณาเขตไปทางตะวันออกได้ดินแดนนครราชสีมา
และจันทบุรีไว้เป็นราชอาณาจักรเข้าใจว่าเมืองสุรินทร์และหัวเมืองแถบนี้รวมอยู่ในเขตราชอาณาเขตมาตั้งแต่ครั้งนั้น
(จากหนังสือเรื่องแหลมอินโดจีน สมัยโบราณของเสฐียรโกเศศ
ไทยในแหลมทองของ พ.อ.หลวงรณสิทธิพิชัย
ประวัติศาสตร์ไทยกับเขมร ของสิริ เปรมจิตต์ หลักไทยของขุนวิจิตรมาตรา
สยามกับสุวรรณภูมิ ของหลวงวิจิตรวาทการ แบบเรียนประวัติศาสตร์สยาม
ของหลวงชุณห์กสิกรและคณะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น