สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑ - พ.ศ. ๒๔๕๓)
พ.ศ. ๒๔๑๒
พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
กราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งบ้านกุดไผทหรือจารพัตเป็นเมือง ขอหลวงไชยสุริยง (คำมี) บุตรหลวงไชยสุริยวงศ์ (หมื่น)
กองนอกเป็นเจ้าเมือง ตำแหน่งปลัดและยกกระบัตรเมืองสังฆะว่าง
ขอพระสุนทรพิทักษ์ บุตรพระปลัดคนเก่าเป็นปลัด ขอหลวงศรีสุราช ผู้หลานเป็น
ยกกระบัตรเมืองสังฆะ
ครั้น ณ วันอังคาร ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ ในปีมะเส็งนั้น (พ.ศ. ๒๔๑๒) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราพระราชสีห์ตั้งบ้านกุดไผท
หรือบ้านจารพัต เป็นเมืองศีขรภูมิพิไสย
ตั้งให้หลวงไชยสุริยงกองนอกเป็นพระศีขรภูมานุรักษ์เจ้าเมืองขึ้นเมืองสังฆะ
ฝ่ายทางเมืองสุรินทร์ พระยาสุรินทรฯ เห็นว่าพระยาสังฆะฯ ได้ขอบ้านกุดไผทเป็นเมืองศีขรภูมิแล้ว
ก็เกรงว่าพระยาสังฆะฯ จะเอาบ้านลำดวนเป็นเขตแขวงด้วย
จึงได้มีใบบอกขอตั้งบ้านลำดวนเป็นเมือง ขอให้พระไชยณรงค์ภักดี (นาก) ปลัดเมืองสุรินทร์ เป็นเจ้าเมือง จึงโปรดเกล้าฯ
ให้ยกบ้านลำดวนขึ้นเป็นเมืองนามว่า เมืองสุรพินทนิคม ให้พระปลัด (นาก) เป็นพระสุรพินทนิคมานุรักษ์
เจ้าเมืองสุรพินทนิคมขึ้นเมืองสุรินทร์มาแต่นั้น
พ.ศ. ๒๔๑๕ ฝ่ายพระยาสังฆะฯ
ได้มีใบบอกขอตั้งบ้านลำพุกเป็นเมือง ขอพระมหาดไทยเมืองสังฆะเป็นเจ้าเมือง
จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านลำพุกขึ้นเป็นเมืองกันทรารมย์ ตั้งให้พระมหาดไทยเป็นพระกันทรานุรักษ์ เจ้าเมืองกันทรารมย์
ขึ้นกับเมืองสังฆะ
พ.ศ. ๒๔๑๖ ทางเมืองสุรพินทนิคม
พระสุรพินทนิคมานุรักษ์ เจ้าเมืองก็ถึงแก่กรรมในปีนี้ พระยาสุรินทรฯ (ม่วง) เห็นว่า หลวงพิทักษ์สุนทร
บุตรพระปลัดกรมการเมืองสังฆะ ซึ่งสมัครมาอยู่เมืองสุรพินทนิคมเป็นผู้มีหลักฐานมั่นคงดี
จึงได้ให้หลวงพิทักษ์สุนทรรับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองสุรพินทนิคม
หลวงพิทักษ์สุนทรรับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองสุรพินทนิคมได้สามปีก็ถึงแก่กรรม
แต่นั้นมาเจ้าเมืองสุรพินทนิคมว่างตลอดมา
พ.ศ. ๒๔๒๔ ฝ่ายทางเมืองจงกัล
ตั้งแต่โปรดเกล้าฯ ให้หลวงสัสดี (สิน) เป็นพระวิไชยเจ้าเมืองจงกัลแล้ว
พระวิไชยรับราชการได้ ๗ ปีก็ถึงแก่กรรม ครั้นมาปีนี้
เจ้าเมืองสังฆะจึงได้ให้พระสุนทรนุรักษ์ผู้หลานนำใบบอกไปกรุงเทพฯ
ขอให้พระสุนทรนุรักษ์เป็นพระทิพชลสินธุ์อินทรนฤมิตร
ทางเมืองสุรินทร์ พระยาสุรินทรฯ ได้มีใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ตำแหน่งยกกระบัตรเมืองสุรินทร์ว่าง
ขอพระมหาดไทยเป็นพระพิไชยนครบวรวุฒิ ยกกระบัตรเมืองสุรินทร์
พ.ศ. ๒๔๒๕ ระหว่างปีนี้
คนทางเมืองสุรินทร์ได้อพยพครอบครัวเป็นอันมากข้ามไปตั้งอยู่ฟากลำน้ำมูลข้างเหนือ
มีบ้านทัพค่าย เป็นต้น พระยาสุรินทรฯ จึงได้มีใบบอกขอตั้งบ้านทัพค่ายเป็นเมือง
ขอพระวิเศษราชา (ทองอิน) เป็นเจ้าเมือง
วันอังคารขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตั้งบ้านทัพค่ายเป็นเมืองชุมพลบุรี ให้พระวิเศษราชา (นัยหนึ่งว่า
หลวงราชวรินทร์) (ทองอิน) เป็นพระฤทธิรณยุทธ
เจ้าเมือง และโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท้าวเพชรเป็นที่ปลัดให้ท้าวกลิ่นเป็นที่ยกกระบัตร
ทั้งสองคนนี้เป็นพี่ชายพระฤทธิรณยุทธ (ทองอิน) และท้าวนุด บุตรพระฤทธิรณยุทธ (ทองอิน) เป็นผู้ช่วยเมืองชุมพลบุรี พร้อมกันนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ตั้งนายปรางค์ บุตรพระยาสุรินทรฯ (ม่วง) คนหนึ่งเป็นพระสุรพินทนิคมานุรักษ์เป็นเจ้าเมืองสุรพินทนิคมแทนคนเก่าที่ถึงแก่กรรมและตำแหน่งเจ้าเมืองยังว่าง
พ.ศ. ๒๔๒๙ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ข้าหลวงใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ได้เชิญประชุมเจ้าเมืองภาคอีสานขึ้น
ณ เมืองอุบล
เพื่อสำรวจชายฉกรรจ์และแก้ไขระเบียบการจัดเก็บภาษีอากรในระหว่างการประชุมข้าราชการอยู่นั้น
ได้รับรายงานว่าทัพฮ่อเข้าโจมตีเมืองเวียงจันทน์แตก การประชุมต้องยุติลง
พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ต้องรีบระดมกำลังขึ้นไปยังเมืองหนองคายโดยด่วนเพื่อสมทบกับกองทัพเมืองนครราชสีมา
ส่วนกองทัพจากกรุงเทพฯ นั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปสมทบที่เมืองหนองคายซึ่งเป็นจุดชุมพล
สำหรับพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) เจ้าเมืองสุรินทร์ ได้มีคำสั่งให้ช่วยราชการอยู่ที่เมืองอุบล
เพราะเจ้าเมืองและกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ต้องไปราชการทัพในครั้งนั้นด้วย
พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) ช่วยราชการอยู่ที่เมืองอุบลอยู่
๒ ปี จึงได้กลับเมืองสุรินทร์
เมื่อพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) ย่างเข้าวัยชราภาพแล้ว ไม่อาจจะปฏิบัติหน้าที่ราชการได้เต็มที่
จึงได้มอบให้นายเยียบ (บุตรชาย) ช่วยราชการเป็นการภายใน
พ.ศ. ๒๔๓๒ พระยามหาอำมาตย์
(หรุ่น) ข้าหลวงใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์
ซึ่งมีอำนาจเต็มในภาคอีสานทั้งหมด ได้แต่งตั้งใบประทวนให้ นายเยียบ
เป็นพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ รักษาราชการในตำแหน่งเจ้าเมืองสุรินทร์ต่อไป
แต่อยู่ได้เพียง ๒ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๓๓
ก็ถึงแก่กรรม พระยา สุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์
(ม่วง) จึงต้องกลับมาเป็นเจ้าเมืองอีกครั้งหนึ่ง
แต่ก็ถึงแก่กรรมในปีเดียวกันนั้นเอง
พ.ศ. ๒๔๓๔
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร
เป็นข้าหลวงใหญ่ พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนออกไปตั้งอยู่ ณ
เมืองนครจำปาศักดิ์ กองหนึ่งให้เรียกว่า ข้าหลวงหัวเมืองลาวกาว
ให้เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองเชียงแตง เมืองแสนปาง เมืองสีทันดร
เมืองสาลวัน เมืองอัตปือ เมืองคำทองใหญ่ เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ เมืองขุขันธ์
เมืองเดชอุดม เมืองศรีสะเกษ เมืองอุบล เมืองยโสธร เมืองเขมราฐ เมืองกมลาไสย
เมืองสุวรรณภูมิ เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม
เมืองใหญ่ ๒๑ เมือง เมืองขึ้น ๔๓ เมือง อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงเมืองลาวกาว
พ.ศ. ๒๔๓๕ กรมหลวงพิชิตปรีชากร
ข้าหลวงใหญ่ ซึ่งย้ายมาแทนพระมหาอำมาตย์ (หรุ่น) ได้ทรงแต่งตั้งให้พระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาค) น้องชายพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง)
ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์ (เปลี่ยนจากเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง)
ในสมัยที่พระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาค) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์นี้เป็นยุคที่บ้านเมืองกำลังปรับปรุงระบบบริหารใหม่
ข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์มณฑลอีสานได้ทรงวางระเบียบให้มีข้าราชการจากส่วนกลางมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการทุกหัวเมือง
สำหรับเมืองสุรินทร์ หลวงธนสารสุทธารักษ์ (หว่าง) เป็นข้าหลวงกำกับราชการ มีอำนาจเด็ดขาดทัดเทียมผู้ว่าราชการเมือง
พ.ศ. ๒๔๓๖ ฝรั่งเศสได้ยกทัพขึ้นทางเมืองเชียงแตง
เมืองสีทันดร และเมืองสมโบก ซึ่งเป็นราชอาณาจักรของไทย พระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหลวงพิชิตปรีชากร
ในฐานะผู้สำเร็จราชการข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสานได้รับหน้าที่ผู้อำนวยการป้องกันราชอาณาจักร
ให้เกณฑ์กำลังหัวเมืองสุรินทร์ ศรีสะเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองมหาสารคาม
และเมืองร้อยเอ็ด เมืองละ ๘๐๐ เมืองสุวรรณภูมิ และเมืองยโสธร เมืองละ ๕๐๐
ฝึกการรบแล้วส่งกำลังรบเหล่านี้เข้าตรึงการรุกรานของฝรั่งเศสทุกจุด
สถานการณ์สงครามสงบลงในเดือนตุลาคม ๒๔๓๖ ต่างฝ่ายต่างถอนกำลังรบ
กำลังรบของเมืองสุรินทร์จึงได้กลับคืนบ้านเมือง อาจกล่าวได้ว่านับแต่ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อเกิดศึกสงครามจากข้าศึกนอกราชอาณาจักร
ชาวสุรินทร์จะมีบทบาทในการป้องกันบ้านเมืองด้วยเสมอ
กรณีพิพาทกับฝรั่งเศสสงบลงไม่นานนัก ในปีเดียวกันนี้ พระไชยณรงค์ (บุนนาค) ผ฿ว่าราชการเมืองสุรินทร์ได้ถึงแก่อนิจกรรม
โดยที่ยังมิได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ตามตำแหน่งในช่วงระยะนี้
เสด็จในกรมฯ ผู้สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ได้สั่งย้ายหลวงธนสารสุทธารักษ์ (หว่าง) และแต่งตั้งหลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์ (ล้อม) มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองสุรินทร์แทน
และในปีเดียวกันนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สับเปลี่ยนข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลอีสาน โดยให้พระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ มาดำรงตำแหน่งแทนพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร
ในวาระที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เดินทางกลับกรุงเทพฯ
ผ่านเมืองสุรินทร์ ได้ทรงแต่งตั้งพระพิชัยนครบวรวุฒิ (จรัญ)
บุตรนายสอน ซึ่งเป็นบุตรพระยาสุรินทรฯ (ตี)
เป็นผู้รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์
และเมื่อเสด็จถึงกรุงเทพฯ แล้ว
จึงได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระพิชัยนครบวรวุฒิ (จรัญ)
เป็นพระยา
สุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์สืบต่อมา
ระหว่างนี้ ได้มีการโยกย้ายสับเปลี่ยนตัวข้าหลวงกำกับราชการโดยลำดับ
กล่าวคือ หลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์ (ล้อม) มาประจำอยู่ประมาณ ๑ ปี ก็ย้ายไปอยู่จังหวัดศรีสะเกษ
สับเปลี่ยนกับจมื่นวิไชยยุทธเดชาคณี (อิ่ม) จมื่นวิไชยยุทธเดชาคณี ดำรงตำแหน่งประมาณ ๑ ปี
ก็ย้ายไปโดยมีหลวงวิชิตชลหาญมาดำรงตำแหน่งแทน ชั่วระยะเวลาอันสั้น
กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ก็ได้ย้ายหลวงสาทรสรรพกิจมาดำรงตำแหน่งแทนในประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๘
พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (จรัญ) ถึงแก่กรรมในปีจุลศักราช ๑๒๕๗ หรือ ร.ศ. ๑๑๔ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๓๘
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ โปรดให้พระพิไชยณรงค์ภักดี (บุญจันทร์) สันนิษฐานว่าเป็นบุตรของนายพรหม (นายพรหมเป็นบุตรของพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (มี)
เจ้าเมืองสุรินทร์ ลำดับที่ ๓) เป็นผู้รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์สืบต่อมา
พระพิไชยณรงค์ภักดี (บุญจันทร์) ถึงแก่กรรมเมื่อ
ร.ศ. ๑๒๖ หรือ พ.ศ.
๒๔๕๐
และเมื่อถึงแก่กรรมแล้วจึงไดรับสัญญาบัตรแต่งตั้งให้เป็นที่พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสาน
จึงโปรดให้หลวงประเสริฐสุรินทรบาล (ตุ่มทอง) ซึ่งเป็นบุตรของพระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาค) ผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์คนที่ ๘
เป็นผู้รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์แทน แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียง ๑ ปี
ก็ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. ๒๔๕๑
และในต้นปี พ.ศ. ๒๔๕๑ นี้
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ไปรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง
เป็นช่วงเวลาที่ได้มีการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดินในราชการบริหารส่วนภูมิภาค
(เข้าสู่แบบเทศาภิบาล) ส่วนกลางได้เริ่มแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายปกครองมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดบ้าง
หรือผู้ว่าราชการจังหวัดบ้าง
บุคคลแรกที่ได้รับการแต่งตั้งมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดสุรินทร์ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ คือ พระกรุงศรีบุรีรักษ์ (สุม สุมานนท์)
นับแต่ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองสุรินทร์
มีเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการเมือง
ปกครองสืบเชื้อสายต่อมา ได้มีเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการเมืองปกครองโดยลำดับ
ดังนี้
๑.
พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) พ.ศ. ๒๓๐๓ - ๒๓๓๗
๒.
พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ตี) พ.ศ. ๒๓๓๗– ๒๓๕๑
๓.
พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (มี) พ.ศ. ๒๓๕๑ - ๒๓๕๔
๔.
พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (สุ่น) พ.ศ. ๒๓๕๔ - ๒๓๙๔
๕.
พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) พ.ศ. ๒๓๙๕ - ๒๔๓๒
๖.
พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (เยียบ) พ.ศ. ๒๔๓๒ - ๒๔๓๓
๗.
พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) พ.ศ. ๒๔๓๓ - ๒๔๓๔
๘.
พระไชยณรงค์ภักดี (บุนนาค) พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๓๖
๙.
พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (จรัญ) พ.ศ. ๒๔๓๖ - ๒๔๓๘
๑๐.
พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (บุญจันทร์) พ.ศ. ๒๔๓๘ - ๒๔๕๐
๑๑.
พระประเสริฐสุรินทรบาล (ตุ่มทอง) พ.ศ. ๒๔๕๐ - ๒๔๕๑
รายนามข้าหลวงกำกับราชการ
๑.
หลวงธนสารสุทธารักษ์ (หว่าง) พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๓๖
๒.
หลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์ (ล้อม) พ.ศ. ๒๔๓๖ - ๒๔๓๗
๓.
จมื่นวิไชยยุทธเดชาคณี (อิ่ม) พ.ศ. ๒๔๓๗ - ๒๔๓๘
๔.
หลวงวิชิตชลหาญ พ.ศ. ๒๔๓๘ - ๒๔๓๘
๕.
หลวงสาทรสรรพกิจ (อู๊ต) พ.ศ. ๒๔๓๘ - ๒๔๕๐
รายนามข้าหลวงและผู้ว่าราชการจังหวัด
๑.
พระกรุงศรีบุรีรักษ์ (สุม สุมานนท์) พ.ศ. ๒๔๕๑ - ๒๔๕๓
๒.
หลวงวิชิตสรไกร (ขำ ณ ป้อมเพชร) พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๔๕๔
๓.
พระอนันตรานุกูล (สว่าง พุกณานนท์) พ.ศ. ๒๔๕๔ - ๒๔๕๗
๔.
หลวงประสงค์สุขการี (เทียบ สุวรรณิน) พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๖๑
๕.
พระยาสำเริงนฤปการ (อนงค์ พยัคฆันตร์) พ.ศ. ๒๔๖๑ - ๒๔๖๕
๖.
พระนิกรจำนงค์ (จิตร ไกรฤกษ์) พ.ศ. ๒๔๖๕ - ๒๔๖๙
๗.
พระยาเสนานุชิต (จร ศกุนตะลักษณ์) พ.ศ. ๒๔๖๙ - ๒๔๗๐
๘.
พระยาปทุมเทพภักดี (ธน ณ สงขลา) พ.ศ. ๒๔๗๐ - ๒๔๗๑
๙.
พระยาสุริยาราชวราภัย (ศิริ วิเศษโกสิน) พ.ศ. ๒๔๗๑ - ๒๔๗๖
๑๐.
พ.ต.อ.พระยาขจรธรณี (ปลั่ง โสภารักษ์) พ.ศ. ๒๔๗๖ - ๒๔๗๗
๑๑.
พระศรีพิชัยบริบาล (สวัสดิ์ ปัทมดิลก) พ.ศ. ๒๔๗๗ - ๒๔๘๑
๑๒.
หลวงนครคุนูปถัมภ์ (หยวก ไพโรจน์) พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๘๔
๑๓.
นายโฉม จงศิริ พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๙
๑๔.
ขุนไมตรีประชารักษ์ (ไมตรี ไมตรีประชารักษ์) พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๔๙๐
๑๕.
ขุนพำนักนิคมคาม (สนธิ พำนักนิคมคาม) พ.ศ. ๒๔๙๐ - ๒๔๙๒
๑๖.
นายทำนุก รัตนดิลก ณ ภูเก็ต พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๔๙๖
๑๗.
นายเลื่อน ไขแสง พ.ศ. ๒๔๙๖ - ๒๔๙๘
๑๘.
พ.ต.อ.นิรันดร ชัยนาม พ.ศ. ๒๔๙๘ - ๒๕๐๐
๑๙.
นายมานิต ปุรณพรรค์ พ.ศ. ๒๕๐๐- ๒๕๐๑
๒๐.
หลวงปริวรรตวรวิจิตร (จันทร์ เจริญชัย ปริวรรตวร) พ.ศ. ๒๕๐๑ - ๒๕๐๕
๒๑.
นายคำรน สังขกร พ.ศ. ๒๕๐๕ - ๒๕๑๐
๒๒.
พล.ต.ต.วิเชียร สีมันตร พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๓
๒๓.
นายสงัด รักษ์เจริญ พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๒๕๑๔
๒๔.
นายฉลอง วัชรากร พ.ศ. ๒๕๑๔ - ๒๕๑๕
๒๕.
นายสงวน สาริตานนท์ พ.ศ. ๒๕๑๕ - ๒๕๑๗
๒๖.
นายสุธี โอบอ้อม พ.ศ. ๒๕๑๗- ๒๕๑๙
๒๗.
นายฉลอง กัลยาณมิตร พ.ศ. ๒๕๑๙- ๒๕๒๓
๒๘.
นายเสนอ มูลศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๒๓– ปัจจุบัน
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล
หลังจากจัดหน่วยราชการบริหารส่วนกลาง โดยมีกระทรวงมหาดไทย
ในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศ
และควบคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้ว การจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็มีการจัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค
ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น
อันได้แก่ การจัดรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล
ซึ่งถือว่าเป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น
การปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบบการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่งที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางออกไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ
ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบบการปกครองที่รวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลางอย่างมีระเบียบเรียบร้อยและเปลี่ยนระบบการปกครอง
จากประเพณีปกครองดั้งเดิมของไทย คือ ระบบกินเมืองให้หมดไป
การปกครองหัวเมืองก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ นั้น
อำนาจปกครองบังคับบัญชามีความหมายแตกต่างกันออกไปตามความใกล้ไกลของท้องถิ่นหัวเมืองหรือประเทศราช
ยิ่งไกลไปจากกรุงเทพฯ เท่าใด ก็ยิ่งมีอิสระในการปกครองตนเองมากขึ้นเท่านั้น
ทั้งนี้เนื่องจากทางคมนาคมไปมาหาสู่ลำบาก
หัวเมืองที่รัฐบาลปกครองบังคับบัญชาได้โดยตรงก็มีแต่หัวเมืองจัตวาใกล้ๆ
ส่วนหัวเมืองอื่นๆ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองแบบกินเมืองและมีอำนาจอย่างกว้างขวาง ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
พระองค์ได้จัดให้มีอำนาจการปกครองเข้ามารวมอยู่ยังจุดเดียวกัน
โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น
มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลมิให้การบังคับบัญชาหัวเมืองไปอยู่ที่เจ้าเมือง
ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๗ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘
จึงสำเร็จและเพื่อความเข้าใจเรื่องนี้เสียก่อนในเบื้องต้น จึงจะขอนำคำจำกัดความของ
“การเทศาภิบาล” ซึ่งพระยาราชเสนา (สิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยตีพิมพ์ไว้
ซึ่งมีความว่า
“การเทศาภิบาล” คือ
การปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยบริหารราชการ
อันประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และเป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์รับแบ่งภาระของรัฐบาลกลาง ซึ่งประจำแต่เฉพาะในราชธานีนั้นออกไปดำเนินงานในส่วนภูมิภาค
อันเป็นที่ใกล้ชิดติดต่ออาณาประชากร
เพื่อให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญทั่วถึงกัน
โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ราชอาณาจักรด้วย ฯลฯ
จึงได้แบ่งส่วนการปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับดังนี้คือ
ส่วนใหญ่เป็นมณฑล รองถัดลงไปเป็นเมืองคือจังหวัด รองไปอีกเป็นอำเภอ ตำบล
และหมู่บ้าน
จัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวงทบวงกรมในราชธานี
และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญา ความประพฤติดี ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน
เพื่อนำมาซึ่งความเจริญเรียบร้อย รวดเร็ว
แก่ราชการและธุรกิจของประชาชนซึ่งต้องอาศัยทางราชการเป็นที่พึ่งด้วย”
จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น
ควรทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาล ดังนี้
การเทศาภิบาลนั้น หมายความรวมว่าเป็น “ระบบ” การปกครองอาณาเขตชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า “การปกครองส่วนภูมิภาค”
ส่วน “มณฑลเทศาภิบาล” นั้น
คือส่วนหนึ่งของการปกครองชนิดนี้ และยังหมายความอีกว่า
ระบบเทศาภิบาลเป็นระบบที่รัฐบาลกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ
แทนส่วนภูมิภาคจะจัดปกครองกันเองเช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิมอันเป็นระบบกินเมือง
ระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลจึงเป็นระบบการปกครองซึ่งรวมอำนาจเข้ามาไว้ในส่วนกลาง
และริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองตามระบบกินเมืองลงอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ มีข้อที่ควรทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ
ก่อนการจัดระเบียบการปกครองแบบเทศาภิบาลนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕
ก่อนปฏิรูปการปกครองก็มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเหมือนกัน
แต่มณฑลสมัยนั้นหาใช่มณฑลเทศาภิบาลไม่ ดังจะอธิบายโดยย่อดังนี้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช
ทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตให้มั่นคงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ทรงเห็นว่าหัวเมืองอันมีมาแต่เดิมแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง
กระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมเจ้าท่าบ้าง
การบังคับบัญชาหัวเมืองในสมัยนั้นแยกกันอยู่ถึง ๓ แห่ง ยากที่จะจัดระเบียบปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วราชอาณาจักร
ทรงพระราชดำริว่าควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว
จึงได้มีพระบรมราชโองการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเสียใหม่เมื่อวันที่
๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕
เมื่อได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปกครองหัวเมืองทั้งปวงแล้ว
จึงได้รวบรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล มีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้ปกครอง
การจัดตั้งมณฑลในครั้งนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น ๖ มณฑล คือ มณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพ
มณฑลลาวพวนหรือมณฑลอุดร มณฑลลาวกาวหรือมณฑลอีสาน มณฑลเขมรหรือมณฑลบูรพา
และมณฑลนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองทางฝั่งทะเลตะวันตกบัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ต
การจัดรวบรวมหัวเมืองเข้าเป็น ๖ มณฑลดังกล่าวนี้
ยังมิได้มีฐานะเหมือนมณฑลเทศาภิบาล
การจัดระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลได้เริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เป็นต้นมา และก็มิได้ดำเนินการจัดตั้งพร้อมกันทีเดียวทั่วราชอาณาจักร
แต่ได้จัดตั้งเป็นลำดับ ดังนี้
พ.ศ. ๒๔๓๗
เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงานจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ
กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ๓ มณฑล คือ มณฑลพิษณุโลก
มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากสภาพมณฑลแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่
และในตอนปลายนี้ เมื่อโปรดเกล้าฯ
ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวแล้ว
จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก
๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า
และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ
ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ตให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๓๙
ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๒ มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพร
พ.ศ. ๒๔๔๐
ได้รวมหัวเมืองมะลายูตะวันออกเป็นมณฑลไทรบุรี และในปีเดียวกันนั้นเอง
ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๔๓
ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่าๆ ที่เหลืออยู่อีก ๓ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร
และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. ๒๔๔๗
ยุบมณฑลเพชรบูรณ์เพราะเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
พ.ศ. ๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลปัตตานี
และมณฑลจันทบุรี มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด
พ.ศ. ๒๔๕๐
ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ. ๒๔๕๑ จำนวนมณฑลลดลง
เพราะไทยต้องยอมยกมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษเพื่อแลกเปลี่ยนกับการแก้ไขสัญญาค้าขาย
และเพื่อจะกู้ยืมเงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้
พ.ศ. ๒๔๕๔
ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น ๒ มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด
พ.ศ. ๒๔๕๘
จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น
ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.
๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ
จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัด
และกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหารเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว
ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วย
เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย
เหตุที่ยกเลิกมณฑลน่าจะเนื่องจาก
๑.
การคมนาคมสื่อสารสะดวกและรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน
สามารถที่จะสั่งการและตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
๒.
เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
๓.
เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด
จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวง เป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
๔.
รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ
มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขึ้นและการที่ยุบมณฑล
เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕
รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง
ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดมีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้
๑.
จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล
จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
๒.
อำนาจบริหารในจังหวัด
ซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรรมการจังหวัดนั้นได้เปลี่ยนแปลงมาอยู่กับบุคคลคนเดียว
คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
๓.
ในฐานะของคณะกรรมการจังหวัด
ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด
ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไปขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น
๑.
จังหวัด
๒.
อำเภอ
จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล
การตั้งยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ
และให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น