เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง
ไทยก็เริ่มมีอำนาจและเข้าครอบครองดินแดนเหล่านี้
และได้มีการอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ทางแถบตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดสุรินทร์
และในสมัยที่ขอมหมดอำนาจลงนั้น จังหวัดสุรินทร์คงมีสภาพเป็นป่าดงอยู่นาน
เสมือนหนึ่งเป็นดินแดนหลงสำรวจ เพราะแม้แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหรือตอนกลาง
ก็มิได้มีการบันทึกกล่าวถึงเมืองสุรินทร์แต่อย่างใด
เพิ่งจะได้มีการรู้จักเมืองสุรินทร์ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาในระยะเริ่มแรกของการตั้งเมือง
ซึ่งปรากฏตามหลักฐานพงศาวดารเมืองสุรินทร์ ดังต่อไปนี้
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ราชอาณาจักรไทยมีอาณาเขตกว้างขวางมาก ชาวไทยพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า
“ส่วย” “กวย” หรือ
“กุย” ที่อาศัยในแถบเมืองอัตปือแสนแป (แสนแป) ในแคว้นจำปาศักดิ์
ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนของราชอาณาจักรไทยโดยสมบูรณ์ (เพิ่งเสียให้ฝรั่งเศสเมื่อ
พ.ศ. ๒๔๓๖ หรือ ร.ศ. ๑๑๒) พวกเหล่านี้มีความรู้ความสามารถในการจับช้างป่ามาเลี้ยงไว้ใช้งาน
ตลอดทั้งการจับสัตว์ป่านานาชนิด ได้พากันอพยพข้ามลำน้ำโขงมาสู่ฝั่งขวา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๐ โดยแยกกันหลายพวกด้วยกัน
แต่ละพวกมีหัวหน้าควบคุมมา และมาตั้งหลักฐาน ดังนี้
พวกที่
๑ มาตั้งหลักฐานที่บ้านเมืองที (บ้านเมืองที ตำบลเมืองที
อำเภอเมืองสุรินทร์) หัวหน้าชื่อ “เชียงปุม”
พวกที่
๒ มาตั้งหลักฐานที่บ้านกุดหวาย หรือเมืองเตา (อำเภอรัตนบุรีปัจจุบัน)
หัวหน้าชื่อ “เชียงสี” หรือ
“ตากะอาม”
พวกที่
๓ มาตั้งหลักฐานที่บ้านเมืองลิ่ง (เขตอำเภอจอมพระปัจจุบัน)
หัวหน้าชื่อ “เชียงสง”
พวกที่
๔ มาตั้งหลักฐานที่บ้านโคกลำดวน (เขตอำเภอขุขันธ์
จังหวัดศรีสะเกษ) หัวหน้าชื่อ “ตากะจะ”
และ “เชียงขัน”
พวกที่
๕ มาตั้งหลักฐานที่บ้านอัจจะปะนึง หรือโคกอัจจะ (เขตอำเภอสังขะ
จังหวัดสุรินทร์) หัวหน้าชื่อ “เชียงฆะ”
พวกที่
๖ มาตั้งหลักฐานที่บ้านกุดปะไท (บ้านจารพัต
อำเภอศีขรภูมิปัจจุบัน) หัวหน้าชื่อ “เชียงไชย”
ลุ
พ.ศ. ๒๓๐๒
ในรัชกาลของสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ พระที่นั่งสุริยามรินทร์
ครองกรุงศรีอยุธยาราชธานี ช้างเผือกแตกโรงออกจากเมืองหลวงเข้าป่าไปทางทิศตะวันออก
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามารินทร์
โปรดให้สองพี่น้องเป็นหัวหน้ากับไพร่พล ๓๐ นายออกติดตาม
เมื่อสองพี่น้องกับไพร่พลติดตามมาถึงเมืองพิมายทราบจากเจ้าเมืองพิมายว่า
ในดงริมเขามีพวกส่วยซึ่งชำนาญในการจับช้างและเลี้ยงช้างอยู่
หากไปสืบหาจากพวกส่วยเหล่านี้คงจะทราบเรื่อง
สองพี่น้องกับไพร่พลจึงได้ติดตามไปพบเชียงสี หรือตากะอามที่บ้านกุดหวาย (อำเภอรัตนบุรีปัจจุบัน) เชียงสีจึงได้พาสองพี่น้องกับไพร่พลไปหาเชียงสงที่บ้านเมืองลิ่ง
ไปหาเชียงปุมที่บ้านเมืองที ไปหาเชียงไชยที่บ้านกุดปะไท
ไปหาตากะจะและเชียงขันที่บ้านโคกลำดวน และไปหาเชียงฆะที่บ้านอัจจะปะนึง
เชียงฆะได้เล่าบอกกับสองพี่น้องว่า
ได้เคยเห็นช้างเผือกเชือกหนึ่งมีเครื่องประดับที่งาทั้งสองข้าง
ได้พาโขลงช้างป่ามาลงเล่นน้ำที่หนองโชกตอนบ่ายๆ ทุกวัน
เมื่อได้ทราบเช่นนั้นสองพี่น้องจึงได้พาหัวหน้าหมู่บ้านเหล่านั้นไปขึ้นต้นไม้ริมหนองโชกคอยดู
ครั้นถึงตอนบ่ายก็เห็นโขลงช้างป่าประมาณ ๕๐ - ๖๐ เชือก
เดินห้อมล้อมช้างเผือกออกจากชายป่าลงเล่นน้ำในหนอง สมจริงดังที่เชียงฆะบอกกล่าว
สองพี่น้องจึงใช้พิธีกรรมทางคชศาสตร์จับช้างเผือกได้แล้ว
สองพี่น้องกับไพร่พลโดยมีหัวหน้าบ้านป่าดง คือ เชียงปุม เชียงสี หรือตะกะอาม
เชียงฆะ เชียงไชย ตากะจะ และเชียงขัน ได้ร่วมเดินทางไปส่งด้วย สองพี่น้องได้กราบทูลถึงการที่เชียงปุมกับพวกได้ช่วยเหลือติดตามช้างเผือกได้คืนมาและนำมาส่งถึงกรุงศรีอยุธยาด้วย
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งสุริยามรินทร์จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
๑.
เชียงปุม หัวหน้าหมู่บ้านเมืองที เป็นหลวงสุรินทรภักดี
๒.
ตากะจะ หัวหน้าหมู่บ้านโคกลำดวน เป็นหลวงแก้วสุวรรณ
๓.
เชียงขัน อยู่รวมกันกับตากะจะ เป็นหลวงปราบ
๔.
เชียงฆะ หัวหน้าหมู่บ้านอัจจะปะนึง เป็นหลวงเพชร
๕.
เชียงสี หัวหน้าหมู่บ้านกุดหวาย เป็นหลวงศรีนครเตา
๖.
เชียงไชย หัวหน้าหมู่บ้านกุดปะไท เป็นขุนไชยสุริยงศ์
พร้อมทั้งพระราชทานตราตั้งและโปรดเกล้าฯ
ให้ปกครองหมู่บ้านเดิมขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย
หลวงสุรินทรภักดีกับพวก
ได้พากันเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมและได้ปกครองหมู่บ้านเดิมตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ตลอดมา
พ.ศ. ๒๓๐๖ หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม)
ได้ขอให้เจ้าเมืองพิมายกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตย้ายจากหมู่บ้านเมืองทีไปตั้งอยู่ที่บ้านคูปะทาย
หรือบ้านปะทายสมันต์ เพราะบ้านเมืองทีเป็นหมู่บ้านเล็กไม่เหมาะสม
ส่วนบ้านคูปะทายหรือประทายสมันต์ (เมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน)
เป็นหมู่บ้านที่กว้างใหญ่มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบถึง ๒ ชั้น
เป็นชัยภูมิเหมาะสมที่จะป้องกันและต่อต้านศัตรูที่มารุกรานได้เป็นอย่างดี
ประกอบทั้งเป็นแหล่งที่เหมาะสมในการอยู่อาศัย มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์
ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งสุริยามรินทร์ก็ได้ทรงอนุญาตให้ย้ายได้
หลวงสุรินทรภักดีจึงได้อพยพราษฎรบางส่วนไปอยู่ที่บ้านคูปะทาย ส่วนญาติพี่น้องชื่อ
เชียงปืด เชียงเกตุ เชียงพัน นางสะดา นางแล และราษฎรส่วนหนึ่งคงอยู่ ณ
หมู่บ้านเมืองทีตามเดิม
ระหว่างที่อยู่บ้านเมืองที
หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) ร่วมกับญาติดังกล่าวพากันสร้างเจดีย์
๓ ยอด สูง ๑๘ ศอก และสร้างโบสถ์พร้อมพระปฏิมา หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ซึ่งปรากฏอยู่ที่วัดเมืองทีมาจนถึงปัจจุบันนี้
เมื่อย้ายถิ่นฐานจากบ้านเมืองทีไปอยู่ที่บ้านคูปะทายแล้ว
หัวหน้าหมู่บ้านทั้ง ๕ จึงได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยา
โดยนำสิ่งของไปทูลเกล้าฯ ถวาย คือ ช้าง ม้า แก่นสน ยางสน ปีกนก นอระมาด (นอแรต) งาช้าง ขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง
เป็นการส่งส่วยตามราชประเพณี
เพราะว่าขณะนั้นบรรพบุรุษของชาวสุรินทร์จะได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนอันเป็นป่าดงทึบส่วนนี้
โดยตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่อย่างมั่นคงก็ตาม
แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของกรุงศรีอยุธยา
ยังคงถือว่าเป็นกลุ่มชนที่อยู่ในป่าดงในราชอาณาเขตเท่านั้น
ซึ่งกรุงศรีอยุธยาเริ่มรู้จักก็โดยหัวหน้าหมู่บ้านได้ช่วยเหลือจับช้างเผือกคืนกรุงศรีอยุธยา
และเมื่อหัวหน้าหมู่บ้านได้นำของไปทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระที่นั่งสุริยามรินทร์จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้หัวหน้าหมู่บ้านสูงขึ้น
ดังนี้
๑.
หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) เป็น พระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง
ยกบ้านคูปะทายเป็น “เมืองปะทายสมันต์” ให้พระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวางเป็นเจ้าเมืองปกครอง
๒.
หลวงเพชร (เชียงฆะ)
เป็น พระสังฆบุรีศรีนครอัจจะ ยกบ้านอัจจะปะนึง หรือบ้านดงยาง เป็น “เมืองสังฆะ” ให้พระสังฆบุรีศรีนครอัจจะเป็นเจ้าเมืองปกครอง
๓.
หลวงศรีนครเตา (เชียงสี หรือตากะอาม) เป็นพระศรีนครเตา
ยกบ้านกุดหวายเป็น “เมืองรัตนบุรี” ให้พระศรีนครเตาเป็นเจ้าเมืองปกครอง
๔.
หลวงแก้วสุวรรณ (ตากะจะ) เป็น พระไกรภักดีศรีนครลำดวน ยกบ้านปราสาท-สี่เหลี่ยมดงลำดวน เป็น “เมืองขุขันธ์” ให้พระไกรภักดีศรีนครลำดวนเป็นเจ้าเมืองปกครอง
การปกครองบังคับบัญชาแบ่งเป็นหมวดหมู่ เป็นกอง มีนายกอง นายหมวด นายหมู่
บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย
หัวหน้าหมู่บ้านทั้งหมดก็เดินทางกลับและปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบสุขตลอดมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น